การแบ่งประเภทป้านชาจากการขึ้นรูป
โพสต์เมื่อ 27-03-2565, 17:55pm


หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่หลายคนมักจะถามกันบ่อย ๆ ก็คือ ป้านมือล้วนคืออะไร? ป้านกึ่งมือคืออะไร? ป้านหล่อบล็อกคืออะไร? ป้านมือหมุนคืออะไร? ทำไมมันถึงมีหลากหลายประเภทมากมายจัง บทความนี้ก็เลยขอมาสรุปวิธีการขึ้นรูปป้านชาแบบต่าง ๆ ให้ได้รับทราบกัน

ถ้าจะแบ่งประเภทป้านชาตามวิธีการขึ้นรูปนั้น หลัก ๆ ที่ทำกันอยู่จริง ๆ จนถึง ณ วันนี้ก็มีอยู่ทั้งหมด 6 แบบ ได้แก่...

1. ป้านมือล้วน (Fully handmade teapot) หรือ “เฉวียนโส่วกงหู (全手工壶)” เป็นวิธีการขึ้นรูปด้วยมือและตกแต่งผิวด้านนอกด้านในทั้งหมดด้วยมือ ซึ่งก็มีอุปกรณ์ช่วยอยู่บ้างนะครับ เดี๋ยวจะคิดว่ามีแค่ดินกับมือ หลัก ๆ จะมีอยู่ 2 วิธี คือ

1.1 วิธีแรก เรียกว่า พายเซินถ่งเฉิงสิงฝ่า (拍身筒成型法)” วิธีนี้จะใช้การ “ทุบ-ตบ-ตี” โดยช่างจะทุบดินเป็นแผ่นแล้วตั้งโครง จากนั้นก็หมุนแต่ง “ทุบ-ตบ-ตี” ไปเรื่อย ๆ จนได้เป็นรูปทรงป้าน วิธีนี้มักจะใช้กับป้านที่มีทรงมนหรือทรงกลม

ดูตัวอย่างวิธีการขึ้นรูปข้อ 1.1 ได้จากคลิปนี้


1.2 วิธีที่สอง เรียกว่า “เซียงเซินถ่งเฉิงสิงฝ่า (镶身筒成型法)” วิธีนี้จะใช้การตัดและแบ่งส่วนดินเป็นชิ้น ๆ แล้วนำมาประกอบขึ้นรูปจนได้เป็นรูปทรงป้าน ซึ่งมักจะใช้กับป้านที่มีมุมเหลี่ยม เช่น ป้านสี่เหลี่ยม ป้านหกเหลี่ยม หรือป้านแปดเหลี่ยม

ดูตัวอย่างวิธีการขึ้นรูปข้อ 1.2 ได้จากคลิปนี้


2.
ป้านกึ่งมือ (Half handmade teapot) หรือ “ป้านโส่วกงหู (半手工壶)” บ้างก็เรียกว่า หมอจวี้หู (摸具壶)” ซึ่งคำว่า 模具 (หมอจวี้) หมายถึง “แม่พิมพ์/บล็อก” ทำให้คนไทยหลายคนเรียกป้านแบบนี้ว่า “ป้านบล็อก” ตามไปด้วย

แต่จริง ๆ การเรียกว่า “หมอจวี้หู” นั้นก็สร้างความสับสนและเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง เพราะหลายคนมักจะนึกถึงป้านแบบหล่อบล็อกหรือก้วนเจียงหู (灌浆壶) (ในข้อ 5) ดังนั้น ถ้าเรียกให้เข้าใจชัดเจนก็เรียกว่า “ป้านโส่วกงหู (半手工壶)” น่าจะทำให้เข้าใจตรงกันง่ายกว่า และพี่น้องชาวไทยก็ควรเลิกเรียกป้านแบบนี้ว่า “ป้านบล็อก” ได้แล้ว ควรเรียกว่า “ป้านกึ่งมือ” เพื่อจะได้ไม่ไปปนเปกับป้านกดบล็อกหรือป้านหล่อบล็อกนั่นเอง

วิธีการขึ้นรูปป้านแบบกึ่งมือนี้จะใช้โครงบล็อกช่วยในการขึ้นรูป ทำให้ขึ้นรูปได้ง่ายและเร็วกว่าป้านแบบมือล้วน หลังจากนั้นก็จะตกแต่งผิวป้านทั้งด้านนอกและด้านในด้วยมืออีกครั้งก่อนส่งเผา

ดูตัวอย่างวิธีการขึ้นรูปข้อ 2 ได้จากคลิปนี้


3. ป้านปั้นมือ
(Pinched teapot) หรือ “โส่วเนียหู (手捏壶)” เป็นการปั้นดินขึ้นรูปให้เป็นทรงด้วยมือเปล่า ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับการปั้นดินน้ำมันด้วยมือเปล่าให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ

วิธีนี้หลายคนอาจคิดว่าก็เหมือนกับวิธีที่ 1 แต่จริง ๆ แล้วการทำป้านโส่วเนียจะไม่ค่อยมีอุปกรณ์ช่วยซักเท่าไหร่ อาจมีบ้างแต่ก็เอาไว้ช่วยแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ... หลัก ๆ ก็จะเป็นมือเพียว ๆ “กด-บด-บี้-ขยี้-ขยำ” เบี้ยวบ้าง ตรงบ้าง หนาบ้าง บางบ้าง ก็ตามแต่มือของผู้ปั้น ต่างกับป้านในวิธีที่ 1 ที่จะมีอุปกรณ์ช่วยในการทุบตบตีซึ่งจะทำให้ได้รูปทรงที่สมมาตรมากกว่า

ดูตัวอย่างวิธีการขึ้นรูปข้อ 3 ได้จาก 2 คลิปนี้



4. ป้านกดบล็อกด้วยเครื่องจักร (
Machine pressed teapot) หรือ “จีเชอหู (车壶)” วิธีนี้เพิ่งถูกนำมาใช้ในการผลิตป้านชาเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยการนำเครื่องเพรสมาประยุกต์ใช้

ขั้นตอนคือจะใช้การกดดินใส่บล็อกแม่พิมพ์ แล้วใช้เครื่องจักรกดให้ได้ความหนาและรูปทรงตามที่ต้องการ จากนั้นจึงแกะมาประกอบหู พวย และฝา แต่งมืออีกนิดหน่อยแล้วส่งเผา ซึ่งทำให้สามารถผลิตป้านได้เร็วมาก โดยดินที่นำมาใช้ก็มีทั้งดินจื่อซาทั่วไปและดินที่คุณภาพไม่สูงนัก เนื่องจากเน้นปริมาณและจำหน่ายในราคาที่ไม่สูงมาก

ดูตัวอย่างวิธีการขึ้นรูปข้อ 4 ได้จากคลิปนี้


5. ป้านหล่อบล็อก
(Slip casting teapot) หรือ ก้วนเจียงหู (灌浆壶)” บ้างก็เรียกว่า “จู้เจียงหู (浆壶)” อันนี้สิที่ควรเรียกว่า “ป้านบล็อก” วิธีการของเขาก็คือการเติมดินเหลวลงไปในบล็อก รอแข็งตัวแล้วเทดินส่วนเกินออก จากนั้นจึงแกะชิ้นงานออกมา แล้วแต่งความเรียบร้อยอีกนิดหน่อยก่อนส่งเผา

วิธีนี้สามารถผลิตป้านได้วันนึงหลายร้อยใบหรือจะโกยกันเป็นพันใบก็ยังไหว ส่วนมากในยุคหลัง ๆ จะเป็นการผลิตป้านที่คุณภาพไม่ค่อยดีนัก (ไม่อยากจะเรียกว่าป้านคุณภาพต่ำ) และส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ใช่ดินจื่อซา ราคาขายจึงค่อนข้างถูกถึงถูกมาก บางใบตีเป็นเงินไทยแค่ 30-40 บาทเอง

ต้องเท้าความก่อนว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นการผลิตป้านก้วนเจียงก็ใช้ดินจื่อซาปกติ แนวคิดตั้งต้นคือต้องการผลิตป้านจื่อซาในแบบอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้จำนวนมาก ๆ แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่าออกทุ่งไปซะงั้น ... ได้ความเป็นอุตสาหกรรมก็จริง แต่กลับไม่ได้ป้านจื่อซา

จุดสังเกตป้านหล่อบล็อกแบบนี้ก็คือ ลองส่องดูด้านในป้าน ตรงรอยต่อหูจับจะมีรอยบุ๋มลงไป และด้านนอกของป้านจะเห็นเส้นรอยต่อบาง ๆ ลากยาวตั้งแต่พวยไปจนถึงหูจับตลอดแนวทั้งบนและล่าง

ป้านแบบนี้หลายคนบอกว่าไม่ค่อยสบายใจเรื่องคุณภาพในการนำไปชงชา แต่คนไม่น้อยที่นำไปใช้ก็ไม่พบว่ามีปัญหาอะไร ดังนั้น ก็คงต้องให้เป็นดุลยพินิจของแต่ละท่าน

ดูตัวอย่างวิธีการขึ้นรูปข้อ 5 ได้จากคลิปนี้


6. ป้านมือหมุน (
Thrown teapot) หรือ “โส่วลาหู (手拉壶)” เป็นวิธีการขึ้นรูปโดยใช้แป้นหมุน ส่วนมากวิธีนี้จะใช้ในการผลิตป้านปังโคย (แต้จิ๋ว) กับ ป้านชินโจว (ก่วงซี) ซึ่งในอี๋ซิงก็มีใช้วิธีนี้บ้าง แต่ก็น้อยมาก ไม่เป็นที่นิยม และมักจะผสมสูตรดินเพิ่มเติมเข้าไปที่ไม่ใช่ดินจื่อซาเพียว ๆ แต่ถึงกระนั้นแบบที่ใช้ดินจื่อซาเพียว ๆ ก็มี

จุดสังเกตป้านมือหมุนง่าย ๆ เลยก็คือ ลองดูด้านในป้านและด้านในของฝาป้าน จะเห็นเส้นวง ๆ ถี่ ๆ ปรากฏอยู่เต็มไปหมด

ดูตัวอย่างวิธีการขึ้นรูปข้อ 6 ได้จากคลิปนี้


ครบถ้วนทั้ง 6 วิธี ก็หวังว่าจะพอเข้าใจและเห็นรูปแบบการขึ้นรูปป้านชากันมากขึ้น ต่อไปเวลาได้ยินใครพูดถึงป้านมือล้วน ป้านกึ่งมือ ป้านหล่อบล็อก ป้านมือหมุน จะได้ทราบว่าหมายถึงอะไร


COPYRIGHT © WWW.YUTEAPOT.COM


หยูทีพอท | 裕茶壶 | Yu Teapot
จำหน่าย ขาย ป้านชา ปั้นชา กาน้ำชา กาชงชา กาดินเผา และ อุปกรณ์ชงชา
Call (+66) 092-573-2000 | Line@ ID : @yuteapot | WeChat ID : yuteapot