โพสต์เมื่อ 16-03-2565, 20:00pm
เวลาใครคุยเรื่องใบเซอร์ฯ ป้านชา แล้วพูดในมุมเดียว มิติเดียว พูดถึงแต่ใบเซอร์ฯ หรู ๆ ให้ตีความไว้ก่อน 3 อย่าง คือ (1) ไม่รู้ (2) ฟังเขามาพูด และ (3) คือ... ขายของ
จริง ๆ ถ้าใครที่ไม่ได้ฝักใฝ่ป้านชาจากผู้ผลิตค่ายเดียว และสะสมป้านจากศิลปินที่หลากหลายก็น่าจะทราบดีว่า ใบเซอร์ฯ ป้านชานั้นมันมีรูปแบบที่หลากหลายมาก ๆ ในทุกแหล่งผลิต ซึ่งก็อาจจะมีใบเซอร์ฯ บางประเภทที่พบเห็นได้มากกว่าแบบอื่น อย่างใบเซอร์ฯ ในรูปที่ 1 น่าจะเป็นเอกสารที่เห็นกันบ่อย ๆ หลายคนชอบเรียกเอกสารแบบนี้ว่า “ใบเซอร์ฯ ปลอม” ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมถึงคิดว่าปลอม? อาจเพราะรู้สึกว่ามันเห็นได้ทั่วไปกระมัง

รูปที่ 1 หนึ่งในรูปแบบของใบเซอร์ฯ ป้านชา ที่มักจะพบเห็นกันบ่อยครั้ง
ศิลปินหรือช่างปั้นหลาย ๆ คนที่ผลิตป้านชาจำนวนมาก ๆ และราคาไม่สูงนัก เขาก็ใช้เอกสารแบบนี้แหละครับ ไม่ได้แปลกอะไร (แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน) คือเขาไม่มาปลอมเอกสารพวกนี้กันหรอก เพราะหาประโยชน์จากการปลอมไม่ได้ด้วยซ้ำ ... ซึ่งถ้าจะปลอม สู้ไปปลอมเอกสารของป้านชาที่ทำเลียนแบบศิลปินดังดีกว่า แบบนั้นน่าจะได้ประโยชน์ในเรื่องความสมจริงมากกว่า
เอกสารตามรูปที่ 1 นั้นมีพิมพ์ขายทั่วไปในจีน ซึ่งในอี๋ซิงมีใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีหลายเนื้อกระดาษให้เลือก โดยลายตารางพื้นหลังที่เป็นสี ๆ จะพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ (มีหลายแบบ) ส่วนตัวหนังสือที่เป็นสีดำเขาเอามาถ่ายเอกสารกันทีหลัง ช่างปั้นซื้อไปก็แค่ปั๊มตราประทับเท่านั้นเอง
วัตถุประสงค์หลักของเอกสารแบบนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ช่างปั้น คือช่างปั้นหรือศิลปิน “บางคน” ที่ผลิตป้านราคาไม่สูงและผลิตจำนวนมาก ๆ เขาก็ใช้เอกสารง่าย ๆ แบบนี้แหละครับ ไม่ใช่ใบเซอร์ฯ ปลอมแต่อย่างใด
ถ้าใครที่เคยพิมพ์หนังสือ โบรชัวร์ เอกสารประชาสัมพันธ์ ฯลฯ จะทราบดีว่าการผลิตเอกสารดี ๆ กระดาษแข็ง ปั๊มพับ พิมพ์ภาพสี่สีสวยงามนั้น มันมีต้นทุนการพิมพ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนการพิมพ์ด้วย อย่างน้อยใบนึงก็ต้องมีห้าบาทสิบบาท หรืออาจจะสูงกว่านั้น ส่วนการพิมพ์แบบ on demand ถ้าเอางานดี ๆ แบบพิมพ์เลเซอร์สี ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก อันนี้ก็อยู่ที่การเลือกใช้ ... ขณะที่ใบเซอร์ฯ สำเร็จรูป (ตามรูปที่ 1) ซื้อจำนวนมาก ๆ ตกแผ่นนึงตีเป็นเงินไทยไม่ถึงบาท ต้นทุนต่างกันเยอะ
ส่วนช่างปั้นหรือศิลปินที่เขาอยากจะขยับโปรไฟล์ตัวเอง ทำภาพรวมให้ดูดี ผลงานมีมูลค่า เขาก็ลงทุนพิมพ์เอกสารอย่างดี ใส่กล่องหรู อันนี้ก็ไม่แปลกอะไร แต่แค่ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะทำแบบนั้น
ถ้าจะบอกว่า ป้านชาของศิลปินต้องมีใบเซอร์ฯ ที่เป็นเอกสารดูดี เขียนด้วยลายมือตัวเอง ก็บอกได้เลยว่า “ไม่เสมอไป” ยิ่งเรื่องการเขียนด้วยลายมือตัวเองนั้น ต้องบอกว่าศิลปินป้านชาเองก็ไม่ได้ลายมือสวยกันทุกคน บางคนก็เลี่ยงที่จะเขียนเอกสารกำกับป้านที่ตัวเองผลิตด้วยซ้ำ บางคนก็ใช้วิธีพิมพ์เอกสารให้ดูดีหน่อย แล้วเซ็นกำกับ และบางคนก็ไม่เขียนใด ๆ เลย ใช้แค่ตราประทับ จบปึ้ง ส่งขาย
จริง ๆ ในอี๋ซิงยังมีศิลปินและช่างปั้นอีกหลายท่านนะครับที่ผลิตผลงานออกมาดีมาก และราคาก็ไม่ใช่ถูก ๆ แต่ก็ไม่สนใจที่จะพิมพ์ใบเซอร์ฯ แบบอุดมคติเหมือนที่คนอื่น ๆ เขาทำกัน ซึ่งบางท่านก็ให้ทัศนะว่า สุดท้ายแล้วผลงาน (ป้านชา) จะเป็นตัวบอกคุณภาพของช่างปั้นหรือศิลปินคนนั้นเอง "ยลป้านชาเห็นช่างปั้น"
นี่คือมุมกว้าง ๆ เกี่ยวกับใบเซอร์ฯ ป้านชา ที่หลายคนอาจไม่ทราบ และอาจโดนเมมโมรี่มาแบบผิด ๆ ... ก็หวังว่าเนื้อหาทั้งหมดนี้จะทำให้คุณมองเรื่องใบเซอร์ฯ ป้านชาในมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างคนที่เข้าใจมันจริง ๆ
COPYRIGHT © WWW.YUTEAPOT.COM
|